ข่าวทั่วไป

ทีโอที เสนอแนวทางการหาประโยชน์จากทรัพย์สินร่วมกันระหว่าง ทีโอที- กสท โทรคมนาคม
ทีโอที เสนอแนวทางการหาประโยชน์จากทรัพย์สินร่วมกันระหว่าง ทีโอที- กสท โทรคมนาคม ให้คณะทำงานพิจารณาแผนรองรับการเปลี่ยนผ่านฯ ซึ่งมีปลัด ดศ. เป็นหัวหน้าคณะทำงานฯ เพื่อนำเสนอ คนร.

เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2561 โดยนายมรกต เธียรมนตรี รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ทีโอที หัวหน้าคณะทำงานพิจารณาแนวทางในการหาประโยชน์จากทรัพย์สินร่วมกันระหว่าง บมจ.ทีโอที และบมจ.กสท โทรคมนาคม (ตามคำสั่ง บมจ.ทีโอที ที่ ต.206/2561) เปิดเผยถึง ผลการประชุมคณะทำงานพิจารณาแผนรองรับการเปลี่ยนผ่านของ บมจ.ทีโอที บมจ.กสท โทรคมนาคม บริษัท NBN Co. และบริษัท NGDC Co. ซึ่งมี น.ส.อัจฉรินทร์ พัฒนพันธ์ชัย ปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เป็นประธาน พร้อมตัวแทนของทั้งกระทรวงดีอี ทีโอที กสท โทรคมนาคม และผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) ร่วมประชุมเพื่อหาข้อสรุปเสนอให้คณะอนุกรรมการกลั่นกรองแผนการแก้ไขปัญหารัฐวิสาหกิจ และคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) ซึ่งคณะกรรมการบริษัทของแต่ละบริษัท ได้รับทราบแนวทางการหาประโยชน์จากทรัพย์สินร่วมกันระหว่าง ทีโอที และ กสท โทรคมนาคม และให้นำเสนอคณะทำงานฯ

สำหรับแนวทางการหาประโยชน์จากทรัพย์สินร่วมกันระหว่าง ทีโอที และ กสท โทรคมนาคม ทั้ง ทีโอที และ กสท โทรคมนาคม มีเป้าหมายเดียวกันคือรวมทั้งสองบริษัทเป็นบริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติเพื่อลดการลงทุนซ้ำซ้อน และความแข็งแกร่งขององค์กรในอนาคต แต่เนื่องจากรูปแบบการรวมสองบริษัทมีแนวทางต่างกัน โดย ทีโอที เสนอแนวทางเปลี่ยนชื่อ บมจ.ทีโอที เป็น บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ (NT) มีภารกิจหลักในการตอบสนองนโยบายรัฐด้านความมั่งคง และโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคม/ดิจิทัล พร้อมตั้งคณะกรรมการ เพื่อศึกษาพิจารณาแนวทางโอนย้าย งาน ทรัพย์สิน สิทธิการใช้คลื่น และพนักงาน กสท โทรคมนาคม เข้ามา บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ (NT) จากนั้นจะทยอยโอนย้ายฯ รวมทั้งจัดตั้งบริษัทลูกเพื่อทำธุรกิจที่เกี่ยวข้อง เพื่อไม่กระทบด้านคดีและข้อพิพาทระหว่าง ทีโอที และ กสท โทรคมนาคม โดยเฉพาะคดีหรือข้อพิพาทที่เกี่ยวเนื่องกับบริษัทเอกชน และไม่มีผลกระทบกับสิทธิการใช้คลื่นความถี่ 2100 MHz และ 2300 MHz ในขณะที่ กสท โทรคมนาคม เสนอแนวทางการจัดตั้งบริษัท โทรคมนาคม แห่งชาติ โดยควบรวม กสท โทรคมนาคม และทีโอที เป็นนิติบุคคลเดียว โดยระยะแรก กสท โทรคมนาคม และ ทีโอที เป็น Business Unit แบบเบ็ดเสร็จภายใต้ บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ และตั้งคณะกรรมการควบรวมเพื่อศึกษาด้านกฎหมาย และคดีความด้านการเงิน-แผนธุรกิจ ด้านโครงสร้างและบุคลากร และระยะการเปลี่ยนผ่าน Transition Process ทั้งนี้ ที่ประชุมคณะทำงานพิจารณาแผนรองรับการเปลี่ยนผ่านฯ ได้มอบหมายให้ผู้บริหาร ทีโอที และผู้บริหาร กสท โทรคมนาคม ทำหนังสือวิเคราะห์ข้อดีและข้อจำกัดแนวทางที่แต่ละบริษัท นำเสนอภายในสัปดาห์นี้ เพื่อคณะทำงานพิจารณาแผนรองรับการเปลี่ยนผ่านฯ จักได้นำเสนอคณะกรรมการ นโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) ซึ่งจะมีการประชุมใน วันที่ 14 สิงหาคม 2561 นี้

นายมรกต เธียรมนตรี รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ทีโอที หัวหน้าคณะทำงานพิจารณาแนวทางในการหาประโยชน์จากทรัพย์สินร่วมกันระหว่าง บมจ.ทีโอที และบมจ.กสท โทรคมนาคม เปิดเผยเพิ่มเติมว่า แนวทางการหาประโยชน์ จากทรัพย์สินร่วมกันฯ ของ ทีโอที เพื่อไม่ให้กระทบกับผลที่อาจจะเกิดจากสิทธิการใช้คลื่นของทั้งสององค์กร และเพื่อไม่ให้กระทบกับด้านคดีและข้อพิพาทโดยเฉพาะที่เกี่ยวเนื่องกับบริษัทเอกชน ซึ่งอาจจะทำให้ประเทศและประชาชนเสียประโยชน์ในอนาคตเป็นสำคัญ และได้นำข้อสังเกตในการประชุมคณะทำงานพิจารณาฯ เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2561 ซึ่งมีปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจ และสังคมเป็นประธานมาดำเนินการ คือ 1.การออกพระราชกฤษฎีกา เพื่อจัดจั้งบริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ อาจดำเนินการได้ยาก ดังนั้น จึงอาจต้องดำเนินการตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ 2. การให้ บมจ.ทีโอที และบมจ.กสท โทรคมนาคม เป็นบริษัทลูกภายใต้บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ อาจกระทบกับสภาพการจ้างของพนักงาน 3. การโอนทรัพย์สิน กิจการ และพนักงาน ไปยังบริษัทโทรคมนาคมแห่งชาติ ตามแนวทางของ ทีโอที ที่เสนอให้ใช้ระยะเวลา 3-4 ปี อาจถูกแทรกแซงจากปัจจัยภายนอก ทำให้ไม่สามารถดำเนินการได้ตามแผนในภาพรวมทั้งหมด และ4.การโอนทรัพย์สินไป บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ ตามแนวทางของ กสท โทรคมนาคม ที่เสนอให้โอนทั้งหมดทันที มีความเป็นไปได้ที่จะไม่สามารถดำเนินการได้สำเร็จเนื่องจากการรวมธุรกิจที่มีการใช้ประโยชน์จากทรัพย์สินที่ยังไม่มีประสิทธิภาพ และพนักงานมีวัฒนธรรมต่างกันมาก


สำหรับแนวทาง โทรคมนาคมแห่งชาติ ของ ทีโอที มีแนวทาง ดังนี้

-ปี 2561 เปลี่ยนชื่อบมจ.ทีโอที เป็น บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ (NT) ซึ่งมีภารกิจหลักในการตอบสนองนโยบายรัฐ ด้านความมั่นคง และโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคม/ดิจิทัล รวมทั้งจัดตั้งบริษัทลูกเพื่อทำธุรกิจที่เกี่ยวข้อง พร้อมทั้งจัดตั้งคณะกรรมการ เพื่อศึกษาพิจารณาแนวทางโอนย้าย งาน ทรัพย์สิน สิทธิการใช้คลื่นและพนักงาน กสท โทรคมนาคม เข้ามาบริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ (NT)

-ปี 2562-2564 ทยอยโอนย้ายงาน ทรัพย์สิน สิทธิการใช้คลื่นและพนักงานจาก กสท โทรคมนาคม มาอยู่หน่วยธุรกิจภายใต้ NT ตามผลการศึกษาของคณะกรรมการ รวมทั้งการจัดตั้งหน่วยธุรกิจใหม่ อาทิ ธุรกิจ National Service เพื่อเป็นเครื่องมือในการขับเคลื่อนและตอบสนองนโยบายรัฐ และทยอยจัดตั้งบริษัทภายใต้ NT กรณีธุรกิจเปลี่ยนแปลงรวดเร็ว และมีการแข่งขันสูง อาทิ บริษัทลูก Mobile Reseller และDigital Solution

-ปี 2565 ขึ้นไป ยุติบทบาท กสท โทรคมนาคม หากไม่กระทบเรื่องคดีความ ไม่ขัดกฎหมายเรื่องการโอนทรัพย์สิน และอื่น ๆ โดยมีเป้าหมายให้บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ (NT) เป็นหน่วยงานของรัฐ ที่ให้ บริการด้านโทรคมนาคมครบวงจรแต่เพียงผู้เดียว สามารถขับเคลื่อนนโยบายได้อย่างเบ็ดเสร็จทั้งด้านโครงข่ายและการให้บริการของรัฐ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ข่าวประชาสัมพันธ์

ทีโอที แจงตั้ง NBN Co เป็นไปตามขั้นตอนของกฎหมาย การโอนทรัพย์สินเป็นการโอนรัฐต่อรัฐ ทรัพย์สินยังคงเป็นของรัฐเช่นเดิม
อ่านต่อ