ข่าวทั่วไป

คณะอนุญาโตตุลาการชี้ขาดให้ ทรู ชำระค่าเสียหาย แก่ ทีโอที
คณะอนุญาโตตุลาการชี้ขาดให้ ทรู ชำระค่าเสียหาย แก่ ทีโอที กรณีนำอุปกรณ์ในระบบร่วมการงานไปให้บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง ADSL โดยไม่ถูกต้องตามสัญญาร่วมการงานฯ
คณะอนุญาโตตุลาการชี้ขาดให้ ทรู ชำระค่าเสียหาย แก่ ทีโอที กรณีนำอุปกรณ์ในระบบร่วมการงานไปให้บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง ADSL โดยไม่ถูกต้องตามสัญญาร่วมการงานฯ

ทีโอที ชนะ ทรู กรณีข้อพิพาทสัญญาร่วมการงานฯ โดยคณะอนุญาโตตุลาการได้มีคำชี้ขาดให้ ทรู ชำระค่าเสียหายจำนวน ๙.๔ หมื่นล้านบาท รวมดอกเบี้ย ในการที่ ทรู ให้บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง ADSL ผ่านอุปกรณ์โทรศัพท์พื้นฐานตามสัญญาร่วมการงานฯ โดยไม่ได้รับอนุญาต หรือได้รับความยินยอมจาก ทีโอที

นางณัฏฐ์ณัชชา ไชยประเสริฐ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่สายงานกฎหมาย บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “เมื่อวันที่ ๓๐ สิงหาคม ๒๕๖๑ คณะอนุญาโตตุลาการได้ชี้ขาดในข้อพิพาทหมายเลขแดงที่ ๑๐๑/๒๕๖๑ โดยคณะอนุญาโตตุลาการสองในสามเห็นว่า พยานหลักฐานประกอบคำให้การพยานฟังได้ว่า ทรู เป็นผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง ADSL ผ่านโทรศัพท์พื้นฐานตามสัญญาร่วมการงานฯ โดยไม่ได้รับอนุญาตหรือได้รับความยินยอมจาก ทีโอที จึงฟังได้ว่า ทรู ได้ประพฤติผิดสัญญาร่วมการงานฯ โดย ทรู นำอุปกรณ์ในระบบและให้ผู้อื่นนำอุปกรณ์ในระบบไปให้บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง ADSL โดยไม่ได้รับอนุญาตหรือได้รับความยินยอมจาก ทีโอที และได้ชี้ขาดให้ ทรู ชำระค่าผิดสัญญาให้ ทีโอที จำนวน ๙๔,๔๗๔,๒๘๒,๕๒๒.๔๐ บาท พร้อมทั้งให้ชำระดอกเบี้ยอีกร้อยละ ๖.๖๘๗๕ ต่อปี จากเงินต้น ๗๖,๑๙๗,๕๗๓,๙๑๙ บาท ไปจนกว่าจะชำระเงินเสร็จสิ้น และให้ ทีโอที และ ทรู ชำระค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายในกระบวนพิจารณาในชั้นอนุญาโตตุลาการ และค่าป่วยการคณะอนุญาโตตุลาการฝ่ายละกึ่งหนึ่งตามระเบียบและข้อบังคับของสถาบันอนุญาโตตุลาการด้วย”

ข้อพิพาทดังกล่าวสืบเนื่องจากเมื่อ ๒ สิงหาคม ๒๕๓๔ และ ๘ กันยายน ๒๕๓๘ บมจ. ทีโอที (ขณะนั้นเป็นองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย) ได้ทำสัญญาร่วมการงานฯ กับ บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) (ทรู) ในการลงทุนจัดหา ติดตั้ง ควบคุม ตลอดจนบำรุงรักษาอุปกรณ์ในระบบ และให้บริการโทรศัพท์ประจำที่หรือโทรศัพท์บ้านในเขตนครหลวงจำนวน ๒.๖ ล้านเลขหมาย มีระยะเวลา ๒๕ ปี ในนาม ทีโอที

ต่อมาประมาณปลายปี ๒๕๔๖ ทีโอที ได้ตรวจสอบพบว่า ทรู ได้นำอุปกรณ์ในระบบไปให้บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง ADSL และหรือยินยอมให้ผู้อื่นนำอุปกรณ์ในระบบไปให้บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง ADSL โดยไม่ได้รับความเห็นชอบจาก ทีโอที และไม่ได้มีการทำความตกลงกับ ทีโอที ก่อนดำเนินการ จึงเป็นการดำเนินการที่ผิดสัญญา ซึ่ง ทีโอที ได้พยายามให้มีการเจรจาแล้ว แต่ไม่สามารถเจรจาตกลงกันได้

โดยสัญญาร่วมการงานฯ ไม่ได้กำหนดให้ ทรู นำอุปกรณ์ในระบบไปให้บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง ADSL เว้นแต่จะได้ทำความตกลงกับ ทีโอที ก่อนดำเนินการ และในสัญญาฯ ข้อ ๓๓ สรุปได้ว่า “กรณีที่ ทรู มีรายได้หรือผลประโยชน์จากบริการที่ไม่ได้กำหนดไว้ในสัญญาโดยชัดแจ้ง และไม่ได้ทำความตกลงกับ ทีโอที ก่อนดำเนินการในทุกกรณี ให้รายได้ หรือผลประโยชน์นั้น ตกเป็นของ ทีโอที ทั้งหมด”

นายมนต์ชัย หนูสง กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงขั้นตอนต่อไปหลังมีคำชี้ขาดของ คณะอนุญาโตตุลาการ ว่า “ทีโอที จะยื่นคำร้องต่อศาลปกครองกลางเพื่อขอให้บังคับตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการต่อไป ทั้งนี้ หาก ทรู ยื่นคำฟ้องขอเพิกถอนคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการดังกล่าวต่อศาลปกครองกลาง ทีโอที ก็พร้อมต่อสู้คดีในชั้นศาลปกครองจนกว่าคดีจะถึงที่สุด โดยพร้อมยินยอมให้ดำเนินคดีอย่างเปิดเผยเพื่อให้สื่อมวลชนได้ตรวจสอบความโปร่งใส”

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ประชาสัมพันธ์องค์กร

การดำเนินงานปี 2561 ของ บมจ.ทีโอที
อ่านต่อ
ประชาสัมพันธ์องค์กร

ทีโอที แถลงผลการดำเนินงาน 2560 ดีกว่าปีก่อน และดีกว่าเป้าหมายที่ประมาณการไว้ พร้อมคาด ปี 2561 จะกลับมามีกำไรสุทธิประมาณ 2,000 ล้านบาท
อ่านต่อ
ข่าวประชาสัมพันธ์

กระทรวงดิจิทัล ร่วมกับ กฟภ. ลงนามการขออาศัยพาดสายสื่อสารบนเสาไฟฟ้าและการซื้อขายไฟฟ้า
อ่านต่อ