[TOT]COVER21_Mobile_InsideBanner
SME-tips

5 กลยุทธ์ในการทำธุรกิจขนส่งให้โดดเด่น
มาดูกันว่ากระแสธุรกิจขนส่งในไทยช่วงที่ผ่านมาเป็นอย่างไร แนวโน้มจะเป็นอย่างไรต่อในอนาคต
นาทีนี้ปฏิเสธไม่ได้ว่า ธุรกิจขนส่ง ถือเป็นอีกหนึ่งธุรกิจที่กำลังได้รับความนิยม ผู้ประกอบการหลายรายต่างหันมาลงทุนทำธุรกิจนี้อยู่ไม่น้อย และมีแนวโน้มว่าจะไปได้ดีและเติบโตมากขึ้นเรื่อย ๆ ในอนาคต

shutterstock_769253206

เมื่อเกิดธุรกิจขนส่งขึ้นมาหลายเจ้า วิธีที่จะนำมาพาธุรกิจของตัวเองให้อยู่รอดและกลายเป็นหนึ่งในทางเลือกอันดับต้น ๆ ของผู้บริโภคก็คือทำความเข้าใจภาพรวมตลาดของธุรกิจประเภทนี้ รวมทั้งติดตามข่าวสารในแวดวงอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง เพื่อนำมาปรับใช้กับกลยุทธ์ในการทำธุรกิจได้ต่อไป

ธุรกิจขนส่ง กระแสและความสำคัญที่น่าจับตามอง


ธุรกิจขนส่งเริ่มเข้ามามีบทบาทและเป็นที่รู้จักทั่วไปมาสักระยะหนึ่งแล้ว โดยในช่วงห้าปีที่ผ่านมา กระแสธุรกิจขนส่งได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก เพราะไม่เพียงช่วยขับเคลื่อนการทำธุรกิจอุตสาหกรรมรายใหญ่ แต่ยังช่วยขนส่งสินค้าและบริการของผู้ประกอบการรายย่อย กระจายทิศทางการให้บริการจากธุรกิจแบบ B2B (Business-to-Business) มาสู่ธุรกิจแบบ B2C (Business-to-Customer) มากขึ้น 

มาดูกันว่ากระแสธุรกิจขนส่งในไทยช่วงที่ผ่านมาเป็นอย่างไร แนวโน้มจะเป็นอย่างไรต่อในอนาคต และทำไมผู้ประกอบการรายใหม่ที่กำลังมองหาการลงทุนทำธุรกิจอยู่จึงควรหันมาจับทางธุรกิจนี้

กระแส ธุรกิจขนส่ง ในไทยเป็นอย่างไร


ต้องยอมรับว่ากระแสธุรกิจขนส่งในไทยตอนนี้กำลังได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก รวมทั้งมีแนวโน้มเติบโตต่อไปในอนาคต ไล่มาตั้งแต่เมื่อ 2 ปีที่แล้ว ผู้ประกอบการรายใหญ่จากต่างประเทศได้เข้ามาลงทุนทำธุรกิจขนส่งพัสดุในไทยหลายราย ไม่ว่าจะเป็นเบสท์ โลจิสติกส์ แฟลชเอ็กซ์เพรส เจแอนด์ที เอ็กซ์เพรส หรือซีเจ โลจิสติกส์ นอกจากนี้ ยังมีธุรกิจขนส่งที่ให้บริการแบบ on-demand delivery ส่งด่วนภายใน 1 ชั่วโมง ตลอด 24 ชั่วโมง อย่างลาลามูฟ ไลน์แมน หรือแกร็บเอ็กซ์เพรส

แม้ปัจจุบันจะเกิดวิกฤติโควิด 19 ระบาด ตั้งแต่ช่วงต้นปีที่ผ่านมา ส่งผลให้การเติบโตของธุรกิจหลายอย่างหยุดชะงักเมื่อเริ่มเข้าไตรมาสที่สอง ถึงอย่างนั้น แนวโน้มการเติบโตของธุรกิจขนส่งกลับสวนทางกระแสการเติบโตของธุรกิจส่วนใหญ่ เห็นได้จากธุรกิจขนส่งพัสดุที่มียอดการใช้บริการเพิ่มขึ้น ทั้งไปรษณีย์ไทยที่มียอดพัสดุเพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 60/วัน รองลงมาคือ Kerry Express Thailand ครองส่วนแบ่งตลาดเฉลี่ยร้อยละ 30 ในขณะที่แฟลช เอ็กซ์เพรส มียอดผู้ใช้บริการเพิ่มขึ้นร้อยละ 20 และเบสท์ เอ็กซ์เพรส มียอดส่งพัสดุ 9 แสน ชิ้น/วัน

shutterstock_258562583

นอกจากนี้ การลงทุนทำธุรกิจประเภทนี้ยังได้รับความนิยมจนติดอันดับธุรกิจจัดตั้งใหม่ของปี 2563 โดยกรมพัฒนาธุรกิจการค้าได้เปิดเผยข้อมูลว่า ผู้ประกอบการขอยื่นจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจใหม่ทั่วประเทศเพิ่มขึ้นร้อยละ 53 เมื่อเทียบกับเดือนพฤษภาคม 2563 และธุรกิจขนส่งและขนถ่ายสินค้า รวมถึงคนโดยสาร มีผู้ขอยื่นจดทะเบียน 188 ราย คิดเป็นร้อยละ 3 ที่สำคัญ ผู้ประกอบการที่ยื่นขอจดทะเบียนใหม่ส่วนใหญ่ก็เป็นธุรกิจขนาดเล็กมากถึงร้อยละ 99 อาจถือได้ว่านี่คือ New Normal หรือความปกติใหม่ในการทำธุรกิจขนส่ง เพราะช่วงที่ผ่านมาผู้คนต่างจับจ่ายสินค้าและบริการผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์มากขึ้น ส่งผลให้ธุรกิจเหล่านี้เข้ามามีบทบาท เป็นตัวกลางในการขนส่งและขนถ่ายพัสดุต่าง ๆ อย่างครบวงจรยิ่งขึ้น



ทำไม ธุรกิจขนส่ง ถึงกลายเป็นธุรกิจน่าลงทุน


เหตุผลที่ทำให้ธุรกิจขนส่งเป็นหนึ่งในธุรกิจที่ผู้ประกอบการควรลงทุน ลงมาร่วมเล่นในสนามนี้นั้น สรุปออกมาได้ 3 ข้อหลัก ดังนี้
  • พฤติกรรมผู้บริโภคมาอยู่ช่องทางออนไลน์มากขึ้น
    เดิมทีการจัดตั้งธุรกิจภัตตาคารและร้านอาหารมักติดสามอันดับแรกที่มีการจัดตั้งธุรกิจใหม่ หากแต่ปีนี้ธุรกิจขนส่งได้ก้าวขึ้นมาแทนที่ นั่นก็เพราะต้องรองรับการขยายตัวของ E-Commerce เพื่อขนส่งสินค้าหรือบริการออนไลน์ ผู้คนนิยมซื้อของ สั่งของ หรือแม้แต่ใช้บริการส่งของในช่องทางออนไลน์มากขึ้น แม้แต่ร้านสะดวกซื้ออย่าง 7-11 ก็เพิ่มบริการ "สปีดดี 24 ชั่วโมง" ให้บริการขนส่งสินค้าเข้ามาเช่นกัน

  • แนวโน้มการขนส่งรายย่อยและขนส่งเอกชนเพิ่มขึ้น
    ต้องยอมรับว่าธุรกิจขนส่งรายใหญ่อย่างไปรษณีย์ไทยยังครองส่วนแบ่งการตลาดมากถึงร้อยละ 55 และเป็นอันดับ 1 ในอุตสาหกรรมนี้ ถึงอย่างนั้น การเติบโตของธุรกิจ E-Commerce เอง ก็ทำให้ธุรกิจขนส่งรายย่อยเข้ามามีบทบาทไม่น้อย โดยได้คาดการณ์ว่ามูลค่าตลาดของธุรกิจขนส่งกลุ่มนี้เฉลี่ย 2 หมื่น  7 พันล้านบาท และมีอัตราการเติบโตร้อยละ 10-20/ปี เพราะพฤติกรรมผู้บริโภคยุคดิจิทัล เน้นความสะดวก รวดเร็ว และราคาย่อมเยาว์เป็นสำคัญ หากเจ้าไหนตอบโจทย์ตรงนี้ได้ครบ ก็มีโอกาสอยู่ในสนามได้นานกว่า

  • สร้างอาชีพและรายได้กระจายสู่คนท้องถิ่นยิ่งขึ้น
    การเติบโตของธุรกิจต่าง ๆ ล้วนส่งผลมาถึงการจ้างแรงงาน เมื่อผู้คนหันมาซื้อขายสินค้าและบริการผ่านช่องทางออนไลน์มากขึ้น การให้บริการขนส่งและขนถ่ายสินค้า รวมทั้งเข้าร่วมเป็นพาร์ทเนอร์กับธุรกิจออนไลน์เหล่านั้นย่อมมากขึ้น นั่นหมายความว่าการจ้างงานคนส่งของหรือ rider เอง ก็ต้องมากขึ้นตามไปด้วย เพื่อรองรับให้เพียงพอต่อความต้องการของผู้บริโภค อัตราการเติบโตของอาชีพนี้สูงขึ้นและกระจายเป็นวงกว้าง เปิดโอกาสให้คนในพื้นที่ต่าง ๆ ได้เข้าร่วม ซึ่งถือเป็นการสร้างงานและสร้างรายได้ให้ผู้คนได้อีกทางหนึ่ง

5 กลยุทธ์ทำธุรกิจขนส่งให้โดดเด่น

นาทีกลยุทธ์การทำธุรกิจและการตลาดที่น่าสนใจและตอบโจทย์คนซื้อจะช่วยให้ธุรกิจขนส่งเจ้านั้นอยู่ได้นาน โดยวิธีทำให้ธุรกิจขนส่งโดดเด่นนั้นทำได้ ดังนี้

shutterstock_713439202

ใช้แผน Green Logistics

Green Logostics ว่าด้วยการบริหารจัดการขนส่งและขนถ่ายสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับสิ่งแวดล้อม กล่าวคือ วางแผนจัดการขนส่งให้ประหยัดพลังงาน ลดต้นทุนทรัพยากร และไม่ก่อมลพิษ เช่น วางแผนเส้นทางขนส่งและพักสินค้า ขับขี่ยานยนต์เพื่อลดเชื้อเพลิง ปรับเปลี่ยนรูปแบบขนส่งแบบราง ใช้บรรจุภัณฑ์ย่อยสลายง่าย เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เป็นต้น นอกจากนี้ ยังช่วยลดค่าใช้จ่ายในการขนส่งด้วย และมีส่วนช่วยในการสร้างภาพลักษณ์แบรนด์ที่เน้นการเติบโตของสังคมและสิ่งแวดล้อม มากกว่าเน้นมูลค่าหรือกำไรเพียงอย่างเดียว ถือเป็นการตีตลาดเจาะกลุ่มผู้บริโภคยุคใหม่ที่ให้ความสำคัญกับการรักษ์โลกและสิ่งแวดล้อม

สร้างบริการคุณภาพ น่าเชื่อถือ

เมื่อธุรกิจขนส่งยุคนี้ผูกกับบริการซื้อสินค้าหรือบริการออนไลน์มากขึ้น นั่นหมายความว่าบริการขนส่งต้องมาพร้อมบริการที่ให้ความสะดวกและรวดเร็ว ยิ่งบริการขนส่งภายในวันเดียวได้ ยิ่งตอบโจทย์และได้รับความนิยมจากผู้บริโภคมากกว่า ผู้ประกอบการอาจพิจารณาศูนย์คัดแยกและรถบริการขนส่งให้เพียงพอต่อความต้องการขนส่งในแต่ละรอบ รวมทั้งสร้างมาตรฐานการขนส่งคุณภาพ ไม่ทำให้เกิดความเสียหายแก่สิ่งของหรือสินค้าตลอดจนนำไปส่งถึงมือผู้บริโภค นอกจากนี้ หากมองในแง่การสร้างแบรนด์และทำการตลาด การหาจุดแข็งที่ไม่เหมือนใครขึ้นมาขายนั้นก็เป็นสิ่งที่ควรทำ เพราะจะช่วยให้แบรนด์น่าจดจำและเป็นที่ต้องการในการเรียกใช้บริการต่อไป

กำหนดราคาถูกกว่าและคุ้มค่า

บริการที่ดีต้องมาพร้อมราคาที่สมเหตุสมผล โดยแบรนด์ต้องประเมินว่ากลุ่มเป้าหมายจริง ๆ คือใคร มีกำลังซื้อมากน้อยแค่ไหน ตั้งราคาอยู่ในช่วงเท่าใดถึงจะไม่สูงเกินตลาดไป หากบริการครบแต่ราคาไม่สมเหตุสมผล ก็มีโอกาสเสียลูกค้าได้ง่าย เพราะยังมีธุรกิจขนส่งอีกหลายเจ้าที่ตอบโจทย์ได้เหมือนกันแต่มาพร้อมข้อเสนอและราคาที่ดีกว่านั่นเอง การตั้งราคาบริการจึงต้องสมเหตุสมผล ทำให้รู้สึกคุ้มค่าเมื่อมาใช้บริการ นอกจากนี้ การสร้างโปรโมชั่นดึงดูดลูกค้าก็จำเป็นเช่นกัน ข้อเสนอที่ราคาถูกกว่า ตอบโจทย์กว่า และทำให้ผู้บริโภครู้สึกคุ้มค่า มักจะเข้ามาเป็นตัวเลือกอันดับต้นเสมอ

จับมือกับพันธมิตรออนไลน์

ปัจจุบันธุรกิจ E-Commerce หลายเจ้า หรือแบรนด์สินค้าไม่น้อยต่างเป็นพาร์ทเนอร์กับธุรกิจขนส่งเจ้าต่าง ๆ วิธีนี้จะช่วยให้แบรนด์เป็นที่รู้จักรวมทั้งเพิ่มกำลังขนส่งสินค้าได้มากขึ้น นอกจากนี้ ยังมีช่องทางช่วยเพิ่มอัตราการขนส่งอย่าง e-Logistics ซึ่งเป็นมาร์เก็ตเพลสของธุรกิจขนส่งออนไลน์ ช่วยจับคู่ลูกค้าและธุรกิจขนส่ง เช่น Shippop Shipjung เป็นต้น ผู้ประกอบการที่สนใจกลยุทธ์นี้ อาจต้องพิจารณาค่าใช้จ่ายสำหรับหักจ่ายให้แพลตฟอร์มนั้น ๆ และค่าใช้จ่ายอื่น ๆ เพิ่มเข้ามาด้วย

เน้นความแตกต่างและลูกค้าเฉพาะกลุ่ม

ธุรกิจขนส่งแบ่งแยกย่อยได้หลายลักษณะ แน่นอนว่าการตีตลาดขนส่งและขนถ่ายพัสดุทั่วไป อาจต้องชนกับธุรกิจขนส่งรายใหญ่หลายเจ้าที่ตีตลาดอยู่ก่อนแล้ว หากผู้ประกอบการเจาะตลาดขนส่งที่มีลักษณะเฉพาะมากขึ้น ก็มีโอกาสตีตลาดได้ไม่ยาก เช่น ตลาดขนส่งสินค้าประเภทอาหารและเครื่องดื่มที่ต้องอาศัยการขนส่งรวดเร็วและควบคุมอุณหภูมิได้ดี เพื่อคงความสดใหม่ของสินค้า หรือการขนส่งแบบ on-demand ที่เน้นการให้บริการสะดวกทันใจ และมีบริการวางแผนเรียกใช้บริการล่วงหน้า ช่วยคำนวณเวลาการขนส่งต่าง ๆ เป็นต้น เรียกได้ว่า หากวิเคราะห์ pain point ของกลุ่มผู้บริโภคในตลาดได้ชัดเจนมากแค่ไหน ก็จะเห็นทิศทางในการตีตลาดขนส่งของแบรนด์ให้ตอบโจทย์ลูกค้าและชัดเจนยิ่งขึ้น